
บล็อกดินซีเมนต์ หรือ บล็อกประสาน เป็นบล็อกที่สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ได้พัฒนามาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2510 โดยนายสุทธิศักดิ์ สำเร็จประสงค์ ซึ่งเป็นวิศวกรของสถาบันฯ ได้ทำการศึกษา ค้นคว้าวัสดุที่จะทดแทนไม้ในการก่อสร้างบ้านเรือน และพบว่าสามารถนำดินลูกรังมาผสมกับปูนซีเมนต์และน้ำใน สัดส่วนที่เหมาะสม อัดเป็นแท่งด้วยแรงคนแบบเดิมที่เรียกว่า เครื่องซินวาแรม (cinva-ram) หลังจากผึ่งในอากาศเป็นเวลา 14 วันก็สามารถนำมาใช้ก่อสร้างอาคารและบ้านพักได้
บล็อกที่ผลิตออกมารุ่นแรกเรียกว่า บล็อกดินซีเมนต์ และได้นำบล็อกดินซีเมนต์ไปทดลองก่อสร้างอาคารหลังแรกที่สถานีกสิกรรม อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา เมื่อปีพ.ศ. 2511 จากนั้นก็มีการพัฒนาวิจัยอย่างต่อเนื่องจนออกมาเป็นบล็อกประสานที่ใช้ในการก่อสร้างบ้านเรือน อาคาร ฯ ในปัจจุบัน
ด้วยขั้นตอนการผลิตที่ง่ายและไม่ต้องใช้เชื้อเพลิงในการผลิต ทำให้ช่วยประหยัดพลังงาน จากการเผาไหม้ได้เป็นอย่างมาก ส่วนในเรื่องของราคาค่าก่อสร้าง หากใช้บล็อกประสานเป็นวัตถุดิบ จะช่วยลดค่าก่อสร้างได้ถึงร้อยละ 20 และช่วยลดระยะเวลาในการก่อสร้างได้ถึงร้อยละ 35 เมื่อเทียบกับอาคารขนาดเดียวกัน เมื่อเทียบกับการสร้างด้วยโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กและผนังก่ออิฐฉาบปูน โดยวัสดุบล็อกประสานมีความงามจากสีธรรมชาติที่ปรากฏ จึงไม่จะเป็นต้องฉาบปูน หรือทาสีทับแต่อย่างใด ดังนั้นจึงสามารถสรุปประโยชน์ของอาคารที่ก่อสร้างด้วยบล็อกประสานได้ ดังนี้
ใช้วัสดุที่หาได้ในท้องถิ่น มีความแข็งแรง ทนทาน
ก่อสร้างง่าย รวดเร็ว โดยไม่ต้องใช้ทั้งเสา ไม้แบบ และการฉาบปูน
ประหยัดราคาในการก่อสร้างเพราะลดเวลาและค่าแรงงานในการก่อสร้าง
มีความสวยงามตามธรรมชาติโดยไม่ต้องทาสี
ช่วยอนุรักษ์ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมโดยการลดการตัดไม้ทำลายป่า เพื่อนำมาใช้ในการก่อสร้าง